The Production of Movie Trailer for Musical Film

โดย กษิดิษ รุจาคม

สาขา เทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์

ปีการศึกษา 2558


บทคัดย่อ (Abstract)

การจัดทำปริญญานิพนธ์เรื่อง การผลิตภาพยนตร์ตัวอย่างประเภทภาพยนตร์เพลง มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการผลิตภาพยนตร์ตัวอย่างประเภทภาพยนตร์เพลงที่มีความน่าสนใจ ทำการศึกษาโดยการผลิตภาพยนตร์ตัวอย่างประเภท Regular Trailer จากภาพยนตร์สั้นเรื่อง Last year โดยใช้การตัดต่อด้วยโปรแกรม Adobe Premiere CS6 บนเครื่องคอมพิวเตอร์ PC แล้วนำเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินผลงานขั้นแรกก่อนนำความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาปรับปรุงแก้ไขผลงาน แล้วนำเสนอผลงานให้กลุ่มเป้าหมายในรูปแบบไฟล์วีดีโอออนไลน์ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลทั่วไป ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป จำนวน 50 คนเป็นผู้ประเมินแบบสอบถามความน่าสนใจต่อภาพยนตร์ตัวอย่าง

จากผลสำรวจพบว่า การผลิตภาพยนตร์ตัวอย่างประเภทภาพยนตร์เพลงในครั้งนี้ สามารถสร้าง
ความน่าสนใจได้ในระดับมาก


วัตถุประสงค์ของการศึกษา

สามารถผลิตภาพยนตร์ตัวอย่างประเภทภาพยนตร์เพลงที่มีความน่าสนใจ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษา

เรียนรู้กระบวนการผลิตภาพยนตร์ตัวอย่าง และสามารถผลิตภาพยนตร์ตัวอย่างประเภท
ภาพยนตร์เพลงที่มีความน่าสนใจได้

ขอบเขตการศึกษา

ศึกษาโดยการค้นคว้าหาข้อมูลการการผลิตภาพยนตร์ตัวอย่าง และวิเคราะห์เทคนิคการนำเสนอภาพยนตร์ตัวอย่างประเภทภาพยนตร์เพลง จากภาพยนตร์ตัวอย่างประเภทภาพยนตร์เพลง 6 เรื่องที่มีแนวภาพยนตร์คล้ายคลึงกับภาพยนตร์เพลงที่จะนำมาผลิตภาพยนตร์ตัวอย่าง และทำการทดลองผลิตภาพยนตร์ตัวอย่างประเภทภาพยนตร์เพลง เรื่อง “Last Year” โดยใช้การตัดต่อในโปรแกรม Adobe Premiere Cs 6 บนเครื่องคอมพิวเตอร์ PC แล้วนำเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินผลงานขั้นแรก ก่อนนำความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาปรับปรุงแก้ไขผลงาน แล้วนำเสนอผลงานให้กลุ่มเป้าหมายในรูปแบบไฟล์วีดีโอออนไลน์ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลทั่วไป ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป จำนวน 50 คนเป็นผู้ประเมินแบบสอบถามความน่าสนใจต่อภาพยนตร์ตัวอย่าง


บทสรุป

จากการศึกษา การผลิตตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง “ Last year ” สามารถสรุปได้ว่า การผลิตภาพยนตร์ตัวอย่างประเภทภาพยนตร์เพลงให้มีความน่าสนใจนั้น สามารถแบ่งการสรุปผลออกเป็นหัวข้อได้ดังต่อไปนี้

  1. ด้านหน้าที่ของตัวอย่างภาพยนตร์
    ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Last year สามารถทำหน้าที่ของตัวอย่างภาพยนตร์ได้ในระดับที่
    ดี กล่าวคือ มีการโฆษณาถึงตัวภาพยนตร์ให้เป็นที่เข้าใจ สามารถทำให้ผู้ชมเกิดความสนใจที่จะรับชมภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับกับทฤษฏีของ ปนัดดา จงวัฒนกิจ (2554:46) ที่กล่าวว่า สุดท้ายปลายทางของการโฆษณา คือการขายสินค้าได้และมียอดขายที่เพิ่มขึ้น เป้าหมายของภาพยนตร์ตัวอย่างก็เช่นเดียวกัน มีเพียงอย่างเดียว คือ เพื่อให้ผู้ชม ชื่นชอบ เกิดความรู้สึกเชิงบวกต้องการชมภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ และซื้อตั๋วเข้ามาชมภาพยนตร์ ดังนั้นตัวอย่างหนังที่ดีก็ควรจะสามารถทำหน้าที่ของมันได้บรรลุจุดประสงค์ นั่นคือ ทำให้คนเข้ามาชมภาพยนตร์ได้นั่นเอง
  2. ด้านเทคนิคการผลิต
    ในด้านเทคนิคการผลิตนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลาย ๆ ส่วนดังนี้

    1. ภาพ มีการนำภาพที่มีความเหมาะสม น่าสนใจ และบอกเล่าอารมณ์มาใช้ในการผลิตตัวอย่างภาพยนตร์ได้ในระดับมาก ซึ่งสอดคล้องกับกับทฤษฏีของ ปนัดดา จงวัฒนกิจ (2554:42) ที่กล่าวว่า การทำตัวอย่างภาพยนตร์นั้นไม่จำเป็นต้องเลือกภาพที่ดีที่สุด แต่ควรเลือกภาพที่เหมาะสมที่สุด และลงตัวกับส่วนประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ในภาพยนตร์ สามารถทำหน้าที่ของภาพยนตร์ตัวอย่างได้ดีและเหมาะสมที่สุดต่างหาก
    2. คำบรรยาย มีการใช้คำบรรยายเพื่อเชื่อมความหมายระหว่างภาพ การใช้คำบรรยายเพื่อรักษาเรื่องราวของภาพยนตร์ และใช้ในการนำพาอารมณ์จองผู้ชมไปยังจุดที่ต้องการได้ในระดับมาก ซึ่งสอดคล้องกับกับทฤษฏีของ ปนัดดา จงวัฒนกิจ (2554:43) ที่กล่าวว่า คำบรรยาย มีส่วนช่วยในการคงเส้นเรื่อง บางครั้งภาพก็อาจจะสามารถแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ได้ แต่อาจจะไม่มีภาพที่เปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนประเด็น หรือสรุปประเด็นได้ คำบรรยาย จะช่วยทำให้การดำเนินเรื่องเป็นไปได้ง่าย
      ยิ่งขึ้น นอกจากนี้คำบรรยาย ยังช่วยให้ข้อมูลรายละเอียด อย่างชัดเจนได้อีกด้วย เช่น ผู้กำกับ นักแสดง สถานที่ถ่ายทำ เน้นย้ำชื่อภาพยนตร์ วันเวลาที่เข้าฉาย
    3. การตัดต่อ ในส่วนของการตัดต่อนั้นมีการใช้จังหวะที่ค่อนข้างเร็ว ซึ่งเหมาะสมกับ
      โทนและอารมณ์ของภาพยนตร์ ที่เป็นภาพยนตร์เพลงและภาพยนตร์ตลกสนุกสนาน มีการใช้ลูกเล่นและวิธีการนำเสนอแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจได้ในระดับมาก เช่น การใช้มุขตลกตบท้าย การใช้ภาพประกอบเพลงสื่ออารมณ์ การใช้คำบรรยาย เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับกับทฤษฏีของปนัดดา จงวัฒนกิจ (2554:45-46) ที่กล่าวว่า การสร้างภาพยนตร์ตัวอย่างนั้น มีการตัดต่อเป็นปัจจัยพื้นฐานการดำเนินเรื่อง เรียบเรียงเส้นเรื่อง การเร้าอารมณ์ การบอกเล่าความรู้สึกตัวละคร การบอกเล่าประเด็นของหนัง ฯลฯ ทุกอย่างที่ภาพยนตร์ตัวอย่างเรื่องหนึ่งต้องการจะสื่อ ไม่ได้มาจากการถ่ายทำ การถ่ายทำเป็นการถ่ายภาพเพื่อเล่าเรื่องตามแบบที่ภาพยนตร์ปกติต้องการจะเล่า ดังนั้นสิ่งใด ๆ ที่ภาพยนตร์ตัวอย่างต้องการสื่อออกมาล้วนมีผลมาจากการตัดต่อทั้งสิ้น
    4. เพลงประกอบภาพยนตร์ มีการใช้เพลงที่มีความเหมาะสม และเพลงประกอบ
      ภาพยนตร์ยังช่วยส่งเสริมให้เห็นถึงอารมณ์และเนื้อหาของภาพยนตร์ได้ในระดับมาก ซึ่งสอดคล้องกับกับทฤษฏีของ ปนัดดา จงวัฒนกิจ (2554:44) ที่กล่าวว่า มีความนิยมเป็นอย่างมากในการใช้เพลงที่มีเนื้อร้องประกอบ เนื่องจากความสามารถในการเพิ่มยอดขายและเป็นที่จดจำ บางครั้งที่เพลงนำหนัง คนที่ได้ยินเพลงนี้แล้วคิดถึงหนังเรื่องนี้ เมื่อเพลงติดหูหนังก็เป็นที่รู้จัก
    5. ดนตรีประกอบ มีการใช้ดนตรีประกอบที่ส่งเสริมอารมณ์ของแต่ละฉาก และมีความ
      ความเหมาะสมกับภาพยนตร์ได้ในระดับมาก ซึ่งสอดคล้องกับกับทฤษฏีของปนัดดา จงวัฒนกิจ (2554:44) ที่กล่าวว่า ดนตรีประกอบช่วยส่งเสริมอารมณ์ในแต่ละฉาก ช่วยในการจดจำ ช่วยเปลี่ยนฉากเปลี่ยนอารมณ์ของเรื่อง
  3. ด้านประเภทของภาพยนตร์
    โดยส่วนใหญ่ผู้ชมให้ความคิดเห็นว่า ตัวอย่างภาพยนตร์เพลงเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ตลกมากที่สุด รองลงมาคือภาพยนตร์เพลง ซึ่งประเภทของภาพยนตร์เรื่อง Last year จริง ๆ แล้วเป็น
    ประเภทภาพยนตร์เพลง การที่ผู้ชมเข้าใจประเภทของภาพยนตร์ผิด มีสาเหตุมาจากในขั้นตอนการตัดต่อ ผู้ศึกษาต้องการให้ผู้ชม มีความสนใจในตัวภาพยนตร์ จึงได้มีการนำฉากที่มีความสนุกสนานมาใช้ในการผลิตตัวอย่างภาพยนตร์เป็นส่วนมาก เพื่อใช้ในการดึงดูความสนใจของผู้ชม ทำให้สัดส่วนของความเป็นภาพยนตร์เพลงมีน้อยกว่าภาพยนตร์ตลก จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องประเภทของภาพยนตร์ต่อผู้ชม และจากการที่ผู้ชมในประเทศไทย ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์เพลงแบบต่างประเทศมากนัก หรือการสร้างภาพยนตร์เพลงของไทยนั้น มีการนำเรื่องของความตลกเข้ามาเป็นจุดขายหลัก มากกว่าที่จะนำการดำเนินเรื่องแบบภาพยนตร์เพลงเข้ามาเป็นจุดขาย อีกทั้งการตัดต่อตัวอย่างภาพยนตร์สมัยใหม่ (ตั้งแต่ปีพ.ศ.2540 เป็นต้นไป) มีการนำเพลงประกอบที่มีเนื้อร้องเข้ามาใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้ชมเห็นเพลงเป็นแค่ส่วนประกอบมากกว่าที่จะเป็นจุดขายหลัก

ซึ่งสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ อ.กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน (สัมภาษณ์, 4 กันยายน 2558) ที่กล่าวว่า วิธีการเล่าของเรามันไม่เหมือนกับของฝรั่ง เพราะฝรั่งเขาจะกลมกลืนไปกับเรื่องเลย แต่ว่าของเรานี่มันจะเป็นฉากโชว์ เช่น การแห่กันมาเป็นขบวน แล้วก็ร้องเพลง มันเป็นฉากโชว์มากกว่า มันมีมาตั้งแต่ของดั้งเดิม เช่น หนังเรื่องมนต์รักลูกทุ่ง และมันก็มีบางเรื่องอย่าง เงินเงินเงิน หรือเทพธิดาบาร์ 21 ที่พยายามทำแบบฝรั่ง แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่

และยังสอดคล้องกับสารนิพนธ์ของ ปนัดดา จงวัฒนกิจ (2553:52) ที่กล่าวว่า ย้อนไปให้หลังเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2540 การใช้เพลงที่มีเนื้อร้องมาเป็นส่วนประกอบ ถือเป็นเรื่องแปลกและไม่ค่อยนิยม ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงดนตรีที่เป็นเมโลดี้ หรือ Score หนังเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ แต่ในปัจจุบันตัวอย่างภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง หรืออาจกล่าวได้ว่า ตัวอย่างภาพยนตร์ไทยแทบทุกเรื่องที่ไม่ใช่ภาพยนตร์อิสระ จะต้องมีเพลงประกอบที่มีเนื้อร้องถูกแทรกเข้าไปอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานำเพลงประกอบนั้นไปใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ออกสื่อต่าง ๆ เช่น เปิดตามงานประชาสัมพันธ์ งานแถลงข่าว เปิดในวิทยุ ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เชิงบูรณาการ เมื่อคนได้ยินเพลงนี้ก็จะนึกถึงภาพยนตร์เรื่องนี้และเมื่อคนดูภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะนึกถึงเพลงนี้เช่นเดียวกัน

ข้อเสนอแนะ

ควรกำหนดรายละเอียดต่างๆให้ชัดเจน เช่น รูปแบบในการเล่าเรื่อง จุดขายของภาพยนตร์ที่จะนำมาใช้โดยประชุมกับฝ่ายโฆษณา (ในที่นี้คือผู้กำกับภาพยนตร์) ให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการตัดต่อภาพยนตร์ตัวอย่าง


รับชมผลงาน