The production for instructional video programme for editing techniques: Cut away technique, Dynamic Cutting technique, Cross Cutting technique, Jump Cut technique and  Match Cut technique

จัดทำโดย ธนภัทร รื่นสุคนธ์;ธรรมรัฐ มาลัยเจริญ;อัครชัย สุขเฉย;เมธา ขาวสำอาง;ฉันชนก สุวัฒวิตยากร

หลักสูตร เทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์

ปีการศึกษา 2560


บทคัดย่อ

ปริญญานิพนธ์เรื่องนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการตัดต่อลำดับภาพในงานภาพยนตร์ นำเสนอโดยการผลิตเป็นภาพยนตร์เพื่อการศึกษา ซึ่งมีความยาว 12 นาที ซึ่งผู้ผลิตเลือกการนำเสนอแบบภาพยนตร์เพราะต้องการให้ผู้ชมได้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่าย โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงานด้าน Post – Production ได้นำเทคนิคการลำดับภาพที่หลากหลาย คือ การตัดต่อภาพยนตร์แบบคัทอะเวย์ (Cut away), การตัดต่อภาพยนตร์แบบไดนามิก (Dynamic Cutting), การตัดต่อภาพยนตร์แบบตัดสลับ (Cross Cutting), การตัดต่อแบบกระโดด (Jump Cut) และการตัดต่อแบบ (Match cut) มารวบรวมไว้ภายในเรื่องเดียว ผู้ชมสามารถเห็นความแตกต่างของเทคนิค ว่าการลำดับภาพแต่ละแบบจะมีการส่งผลอย่างไรต่อภาพยนตร์ ถ่ายทำด้วยกล้อง Sony A7S II บันทึกลง SD Card และนำมาตัดต่อบนคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Windows 10 ด้วยโปรแกรม Adobe Premiere Pro CS6 ร่วมกับโปรแกรม Adobe After Effect CS6 และทำการอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ YouTube

หลังจากนั้นนำภาพยนตร์ มาสรุปผลโดยใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งมาจากการตอบแบบสอบถามของกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึง 4 คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ จำนวน 40 คน และผู้เชี่ยวชาญอีก 3 คนโดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน ดังนี้

ตอนที่ 1 ด้านการตัดต่อ

ตอนที่ 2 ผลการประเมินด้านเนื้อหาภาพยนตร์เพื่อการศึกษา

ผลจากการศึกษาพบว่า ผู้ศึกษามีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการตัดต่อที่นำเสนอไปมากขึ้น และถ้าปรับเปลี่ยนตามความคิดเห็นของตัวผู้เชี่ยวชาญก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของตัวภาพยนตร์เพื่อการศึกษาได้ดียิ่งขึ้น


วัตถุประสงค์ของการศึกษา

  1. เพื่อศึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการตัดต่อลำดับภาพในการผลิตภาพยนตร์
  2. เพื่อผลิตภาพยนตร์เพื่อการศึกษาเรื่องรูปแบบการตัดต่อที่สามารถนำไปใช้ในการเรียน-การสอนจริงได้

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. สามารถจำแนกรูปแบบของการตัดต่อได้อย่างชัดเจนและเข้าใจ
  2. สามารถนำความรู้ในเรื่องรูปแบบการตัดต่อที่ได้ ไปประยุกต์ใช้กับงานต่าง ๆ
  3. ได้สื่อการเรียนการสอนที่สามารถนำไปใช้ในการสอนจริง

ขอบเขตของการศึกษา

ผู้ศึกษาทำการผลิตสื่อภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Footage” ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา เรื่องรูปแบบการตัดต่อ เป็นการนำเนื้อหาข้อมูลในเรื่องของประเภทของการตัดต่อ มาสอดแทรกลงในรูปแบบภาพยนตร์บันเทิง เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ โดยจำแนกรูปแบบการตัดต่อออกเป็น การตัดต่อภาพยนตร์แบบ (Cut away), การตัดต่อภาพยนตร์แบบไดนามิก (Dynamic Cutting), การตัดต่อภาพยนตร์แบบตัดสลับ (Cross Cutting), การตัดต่อแบบกระโดด (Jump Cut) และการตัดต่อแบบ (Match cut) นำมาสอดแทรกลงในภาพยนตร์และสื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนเข้าใจง่ายและสามารถนำไปปรับใช้ได้

จากนั้นกำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มเลือก นักศึกษาชั้นปีที่ 1, 2, 3 และ 4 คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จำนวนชั้นละ 10 คน และผู้เชี่ยวชาญจริงอีก 3 คน โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตัดต่อ 1 ท่าน อาจารย์ผู้สอนที่จะนำสื่อไปใช้ 1 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่องหรือผู้กำกับอีก 1 ท่าน โดยให้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการนำเสนอ ในส่วนกลุ่มของนักศึกษาจะได้ทำแบบสอบถามที่เกี่ยวกับความรู้ที่ได้รับจากการชมภาพยนตร์ และประเมินความแตกต่างของสื่อการเรียนการสอนแบบเดิมที่มีความไม่น่าสนใจ หรือไม่สนุก เป็นภาพยนตร์ที่มีวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญสักคนหนึ่งมาพูด ให้ผู้ดูหรือผู้เรียนฟังแทนครูตัวจริงเท่านั้น เทียบกับภาพยนตร์บันเทิงที่มีการสอดแทรกเนื้อหาการเรียนการสอนลงไปว่า สามารถนำไปพัฒนาเป็นสื่อการสอนในชั้นเรียนจริง ๆ ได้หรือไม่


สรุปผลการศึกษา

จากการศึกษาพบว่า ผลการประเมินการผลิตภาพยนตร์เพื่อการศึกษา เรื่องรูปแบบการ ตัดต่อด้วยเทคนิคการตัดต่อแบบ Cut away, Dynamic Cutting, Cross Cutting, Jump Cut  และ Match Cut  สำหรับการประเมินจากนักศึกษาตัวอย่าง ได้รับความพึงพอใจอยู่ในระดับ มาก ทั้งในเรื่องของการนำเสนอเทคนิคการตัดต่อต่างๆในภาพยนตร์ และรวมถึงผู้ชมได้รับความรู้ในเนื้อหาเทคนิคการตัดต่อทั้ง 5 แบบเพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ตัวภาพยนตร์ยังมีข้อผิดพลาดอยู่หลายจุด ทั้งในเรื่องการตัดต่อและเนื้อหา ซึ่งต้องทำการปรับปรุงแก้ไขในลำดับถัดไปเพื่อให้ผู้ชมได้รับสารที่ถูกต้องมากที่สุดในการนำไปใช้เป็นภาพยนตร์เพื่อการศึกษา

อภิปรายผลการศึกษา

ในการศึกษาการผลิตภาพยนตร์เพื่อการศึกษา เรื่อง รูปแบบการตัดต่อด้วยเทคนิคการตัดต่อแบบ Cut away, Dynamic Cutting, Cross Cutting, Jump Cut และ Match Cut ได้ทำการศึกษาข้อมูลในด้านของการผลิตภาพยนตร์เพื่อการศึกษา และในด้านเนื้อหาข้อมูลของการลำดับภาพในภาพยนตร์ มาใช้ในการผลิตภาพยนตร์เพื่อการศึกษา พบว่า

จากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ที่ได้ชมและทำการประเมิน มีผลออกสรุปออกมาว่า ภาพยนตร์เรื่อง Footage ในส่วนของการนำเทคนิคการตัดต่อทั้ง แบบ Cut away, Dynamic Cutting, Cross Cutting, Jump Cut, และMatch Cut อ้างอิงจากผลการประเมินตอนที่ 1 ในด้านการตัดต่อ ข้อที่ได้รับการประเมินสูงที่สุด คือ ข้อ “การตัดต่อแบบตัดสลับ (Cross Cutting) ในฉากห้องน้ำ สามารถเร้าอารมณ์ลุ้นไปกับภาพยนตร์ได้มากน้อยแค่ไหน” ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.15 ซึ่งอยู่ในระดับ มาก ซึ่งเหตุการณ์ในภาพยนตร์มีความสอดคล้อง กับเนื้อหาบทที่ 2 ในส่วนของ การตัดต่อแบบตัดสลับ (Cross cut) ที่ สมาน งามสนิท (2544:754)  กล่าวว่า “ผู้ตัดต่อจะตัดภาพเหตุการณ์นั้น ๆ มาเสนอทีละเหตุการณ์สลับกันไปมาเพื่อสร้างความสนใจให้กับผู้ดู ซึ่งผลที่ออกมาก็สามารถเร้าอารมณ์ของผู้ชม ทำให้ผู้ชมสนใจได้” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ใช้ Cross Cutting ในฉากห้องน้ำถือว่า ใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ตามบทที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องรับไปกับบทโดยไม่รู้ขัดเขิน แต่ควรจะเพิ่มมุมภาพให้ระทึกกว่านี้  ในส่วนของผลประเมินที่มีผลต่ำที่สุดก็คือ ข้อ “การใช้การตัดต่อแบบภาพกระโดด (Jump Cut) ในฉากที่ฆาตกรร้องโอดครวญนั้น สามารถสร้างอารมณ์กับผู้ชมได้มากน้อยแค่ไหน” ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า การใช้เทคนิคการตัดต่อแบบภาพกระโดด (Jump Cut) ยังไม่ชัดเจนพอ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นว่า เสริมได้น้อย เพราะว่า ไม่เล่าที่มาที่ไปของอาการปวดหัวของฆาตกรและการตัดต่อดูไม่เป็น Jump Cut เหมือนเป็นการใช้เอฟเฟคเข้ามาช่วย และใช้เทคนิคการตัดต่อผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดที่ นิพนธ์ คุณารักษ์ (2552: เว็บไซต์) กล่าวว่า การตัดต่อแบบภาพกระโดด ( Jump Cutting / Cutting on Action) “เป็นการตัดต่อที่ไม่คำนึงถึงความต่อเนื่องในการแสดงของผู้แสดง การตัดต่อแบบนี้สามารถใช้สื่อความแปรปรวนในจิตใจของตัวละครหรือเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายในภาพยนตร์ได้ ”

ถัดมา อ้างอิงจากผลประเมินตอนที่ 2 คือ ส่วนของผลที่ได้หลังจากการรับชม ข้อที่ได้ผลการประเมินสูงที่สุดคือ ข้อ “ภาพยนตร์เรื่อง Footage ทำให้รู้รูปแบบการตัดต่อต่าง ๆ ที่เสนอในภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน” ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.47 ซึ่งอยู่ในระดับ มาก มีความสอดคล้องกับเนื้อหาบทที่ 2 ส่วนของการผลิตภาพยนตร์เพื่อการศึกษาที่ พรสิทธิ์ พัฒธนานุรักษ์ (2544: 28) กล่าวว่า “ภาพยนตร์จัดเป็นสื่อหรือเครื่องมืออย่างหนึ่งในการศึกษาที่ทรงอนุภาพต่อการนำเสนอให้ผู้ดูได้รับรู้จากภาพ เสียง และการเคลื่อนไหว ง่ายต่อการเรียนรู้ในเวลาอันสั้น อันมีจุดมุ่งหมายในการสอนความรู้ในหัวข้อหนึ่งหัวข้อใดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้น โดยมุ่งให้ความรู้ ความกระจ่างแก่ผู้ดู” ภาพยนตร์เรื่อง Footage ได้ช่วยให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในด้านเนื้อหาเทคนิคของการตัดต่อที่นำเสนอในภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้น โดยที่อยู่ในระดับมาก ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดทำภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ว่า จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการตัดต่อลำดับภาพในการผลิตภาพยนตร์”  ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่คนภาพยนตร์ หนังเรื่องนี้สามารถให้ความบันเทิงและความรู้ในเรื่องรูปแบบการตัดต่อรวมไปถึงความเข้าใจต่อ “การตัดต่อภาพยนตร์” ได้ในระดับหนึ่ง การนำเสนอข้อมูลในภาษาภาพยนตร์ ไม่ได้เข้าใจยากจนเกินไป แต่การใช้เทคนิค Cut away, Jump cut และ Match cut ยังไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ ควรปรับปรุงภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้ เพราะมีรูปแบบและเนื้อเรื่องที่น่าสนใจ น่าสนุกติดตาม และเล่าเรื่องออกมาได้น่าสนใจ หากแต่ต้องมีการปรับแก้ เพื่อลบข้อผิดพลาดในเรื่องการตีความหมายบางจุดผิด  สำหรับนักเรียนภาพยนตร์ หนังเรื่องนี้น่าจะช่วยให้การเรียนรู้เรื่องการตัดต่อ มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการนั่งเรียน อ่านตำราในห้อง เพราะมันเห็นภาพชัดเจน และมีวิธีการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่าย ทำให้ผู้ชมสามารถระลึกและจำรูปแบบต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งน่าจะส่งผลให้นักศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านการตัดต่อด้วยตัวเองมากขึ้น

ข้อที่ได้ผลประเมินน้อยที่สุดคือ ข้อ “ภาพยนตร์เรื่อง Footage ช่วยให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นมากน้อยแค่ไหน” ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.95 ซึ่งอยู่ในระดับ มาก ซึ่งความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความคิดเห็นว่า สำหรับนักเรียนภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยให้การเรียนรู้เรื่องการตัดต่อ มีประสิทธิภาพมากขึ้นมากกว่านั่งอ่านตำรา เพราะเห็นภาพชัดเจน แต่อาจจะไม่ได้มากเท่าไหร่ เพราะเทคนิคต่าง ๆ ที่มีในเรื่องยังคงต้องมีอาจารย์มาอธิบายเพิ่มเติมจากตัวภาพยนตร์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า ผลการวิจัยของ วิลเลี่ยม เอช เดอร์ (William H. Durr) “ได้รายงานผลว่า ภาพยนตร์สามารถช่วยให้เรียนได้มากขึ้น ใช้เวลาน้อยลงผู้เรียนสามารถจดจำได้ดีกว่า โดยขจัดอุปสรรคในการอ่านหนังสือและสามารถลดความบกพร่องของผู้เรียนลงได้ เนื่องจากคุณสมบัติของภาพยนตร์ที่ให้ภาพเคลื่อนไหวและเสียง ทำให้สิ่งที่มีเนื้อหายุ่งยากสลับซับซ้อนถูกเสนอออกมาให้เห็นได้เด่นชัด” แต่สุดท้ายยังคงต้องพัฒนาเรื่องการดำเนินเรื่องด้วย

ปัญหา

  1. การจัดหานักแสดงให้ตรงกับคาแรกเตอร์ที่วางไว้ค่อนข้างยาก เนื่องด้วยเวลาที่กระชั้นชิดและในเรื่องของงบประมาณที่จำกัด
  2. เกิดปัญหาระหว่างการเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายทำ จึงทำให้ตารางเวลาในการทำงานเลื่อนและทำงานได้ช้าลง
  3. การเรียบเรียงบทภาพยนตร์ เนื่องจากต้องมีการศึกษาเทคนิคของการตัดต่อที่จะนำมาใช้ ให้ละเอียดและแม่นยำมากที่สุดเพื่อลดการบิดเบือนของเนื้อหาจากต้นฉบับ จึงทำให้ค่อนข้างใช้เวลามาก ซึ่งก่อนหน้ามีการโต้แย้งเรื่องเนื้อหาการตัดอยู่บ่อยครั้ง หลังศึกษาอย่างดีแล้วจึงตัดสินใจทำการปรับปรุงบทเพิ่มและแก้ไขในหลายจุด

ข้อเสนอแนะ

ในส่วนของนักศึกษา

  1. เรื่องราวน่าสนใจ มีความแปลกใหม่
  2. คำอธิบายถ้าสามารถย่อ ให้เข้าใจง่ายขึ้นกว่านี้ น่าจะส่งความรู้ไปถึงผู้ชมได้ ดีกว่าต้องมา Pause แล้วอ่าน
  3. นักแสดงมีอารมณ์ร่วมกับบทบาทที่ได้รับน้อย ถ้าหากมีสิ่งดังกล่าว จะทำให้หนังสนุกและน่าสนใจมากขึ้น

ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญ

  1. ผู้กำกับ: First Idea มีความน่าสนใจมาก และทำออกมาได้สนุก น่าสนใจ Craft งานในแง่ของโปรดักชั่น ถือว่าถ่ายทำได้ดี ปัญหาของหนังคือบท ซึ่งผู้เขียนบท/กำกับ ต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลมากกว่านี้ ไม่งั้นจะเกิดการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดสู่ผู้ชมและส่งผลให้หนังโดยรวมกลมกล่อมไม่ถึงที่สุด และปัญหาคลาสสิคของนักเรียนหนังยุคนี้เกือบทุกคนคือ มัวแต่ “กำกับภาพยนตร์” แต่ไม่ได้ “กำกับการแสดง” ทั้งที่หน้าที่หลักๆของผู้กำกับ คือ กำกับการแสดง เลยทำให้ความน่าเชื่อถือของตัวแสดงไม่เกิดขึ้น หนังที่ตัวละครขาดความน่าเชื่อถือทางการแสดงก็จะไม่สามารถจับให้คนดูอยู่กับหนังได้ถึงที่สุด และไม่รู้สึกร่วมไปกับหนังอย่างเต็มที่
  2. Editor: ไอเดียดีแต่การนำเสนอในเรื่อง บทภาพยนตร์ยังไม่ดีมากนัก งานต่อไปก็ขอให้ทำบทภาพยนตร์ที่ดีมากกว่านี้
  3. อาจารย์: โดยรวมเทคนิคมันยังไม่ชัดทั้ง 5 เทคนิค ต้องวางโครงเรื่องตั้งแต่แรกอีกรอบวางโครงเรื่องให้มีรายละเอียดมาขึ้นกว่าเดิม ระหว่างการดำเนินเรื่อง climax อยู่ที่ไหนจุดประสงค์ คือ อะไร ผู้ชมที่เข้ามาดูเทคนิคแล้วอาจจะไม่เข้าใจ ส่วนเทคนิค ตัดไปแล้วกลับมาดู เช่น Match Cut ต้อง Match กับอะไร ไดนามิคต่อเนื่องกับอะไรฉากไหน สิ่งที่ต้องดูทั้ง 5 เทคนิค คือ การลำดับภาพ

ผลงานนักศึกษา