The Strategic Management for Construction of Offshore Petroleum Platform in Thailand

โดย นารีรัตน์ ศิริพิกุลพันธุ์

ปี     2549

บทคัดย่อ (Abstract)

ประเทศไทยได้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมในทะเลตั้งแต่พ.ศ. 2514 ปัจจุบันนี้มีการผลิตปิโตรเลียมจาก 34 แหล่ง เป็นแหล่งปิโตรเลียมบนบก 12 แหล่ง ในทะเล22 แหล่ง ปิโตรเลียมยังเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก และเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดสิ้น อุตสาหกรรมการผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมจะทำต่อเนื่องหลังจากมีการสำรวจและได้รับพื้นที่สัมปทาน อีกทั้งยังต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะด้านประกอบกับมีความซับซ้อนยุ่งยากในการออกแบบ และการผลิต ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทยที่ทำการผลิตเฉพาะแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมในเทะเล มีบริษัทที่เปิดดำเนินการอยู่ 2 บริษัท คือ บริษัท ไทยนิปปอนสตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TNS) และบริษัท ซียูอีแอล จำกัด (CUEL)แนวโน้มการสำรวจปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นทุกปี จึงส่งผลให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานมีความต้องการแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการบริหารเชิงกลยุทธ์ รวมทั้งการกำหนดกลยุทธ์ระดับบริษัท กลยุทธ์ระดับหน่วยธุรกิจ กลยุทธ์ระดับหน้าที่หรือกลยุทธ์ระดับปฏบัติการ ตลอดจนแนวทางในการควบคุม และประเมินผลจากการปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมการผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่งในประเทศไทย โดยแบ่งขอบเขตของการศึกษาเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1ศึกษาความเป็นมา ข้อมูลทั่วไปในการดำเนินงานของอุตสาหกรรมการผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่งในประเทศไทย การวิเคราะห์กลยุทธ์เพื่อใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ เป็นการวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก นำผลที่ได้จากการวิเคราะห์กลยุทธ์(Strategic analysis) มากำหนดกลยุทธ์ (Strategic formulation) ในระดับต่าง ๆ คือ กลยุทธ์ระดับบริษัท (Corporate strategy) กลยุทธ์ระดับหน่วยธุรกิจ (Business strategy) กลยุทธ์ระดับหน้าที่หรือกลยุทธ์ระดับปฏิบัติการ (Functional strategy) นำผลการกำหนดกลยุทธ์ไปปฏิบัติตามกลยุทธ์ต่อจากนั้นก็จะควบคุมและประเมินผลแผนกลยุทธ์ ศึกษาเกี่ยวกับผลการดำเนินงานโดยทำการวิเคราะห์จากงบการเงินเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในแต่ละปี เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยใช้งบดุลและงบกำไรขาดทุน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2548 ศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น (Benchmarking analysis) ทำการเปรียบเทียบเฉพาะผลลัพธ์ของการทำงาน เป็นการเปรียบเทียบผลกำไรขาดทุนจากงบดุล และงบกำไรขาดทุน เป็นระยะเวลา 1 ปี ในปี พ.ศ. 2548 ของ 2 บริษัท คือ บริษัท ไทยนิปปอนสตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับ บริษัทซียูอีแอล จำกัด ส่วนที่ 2 ขอบเขตด้านประชากร และกลุ่มตัวอย่าง จะศึกษาจากการสัมภาษณ์ ผู้บริหารหรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารบริษัท โดยแบ่งการสัมภาษณ์ออกเป็น 3ระดับ คือ ระดับบริษัท จำนวน 2 ตัวอย่าง ระดับหน่วยธุรกิจ จำนวน 4 ตัวอย่าง ระดับหน้าที่หรือระดับปฏิบัติการ จำนวน 19 ตัวอย่าง ส่วนที่ 3 ขอบเขตด้านเวลา เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล จากเอกสารต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง กับอุตสาหกรรมการผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่งและศึกษางบการเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยใช้งบดุล และงบกำไรขาดทุน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ถึง พ.ศ. 2548 โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ส่วน คือ การสรุปข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ผู้บริหาร (Interview analysis) การวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive analysis) และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative analysis)

ผลการศึกษาอุตสาหกรรมการผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง พบว่า กลยุทธ์ที่เหมาะสามสามารถบริหารองค์กรให้บรรลุประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล ทำให้องค์กรสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง คือ กลยุทธ์เน้นการเจริญเติบโต (Growth Strategy)เป็นกลยุทธ์ระดับบริษัท กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง (Differentiation strategy) กลยุทธ์การเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost leadership strategy) กลยุทธ์การมุ่งเน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Focus strategy)เป็นกลยุทธ์ระดับหน่วยธุรกิจ และควรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การตลาดและการจัดซื้อ กลยุทธ์การผลิตและดำเนินงาน กลยุทธ์ด้านการเงิน กลยุทธ์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ กลยุทธ์ด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นกลยุทธ์ระดับหน้าที่ และมีการนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน รวมถึงฐานะทางการเงินของอุตสาหกรรมการผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่งในประเทศไทยมีความมั่นคงเป็นผลมาจากการใช้นโยบายทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ

DOWNLOAD