Acceptance E- budgeting Management System to working for Bureau of the Budget official.

โดย กุณฑรี อักษรกาญจน์

ปี     2550

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับการยอมรับระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) เพื่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ และเพื่อเปรียบเทียบระดับการยอมรับระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) เพื่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ ตามปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยเกี่ยวกับงาน กลุ่มตัวอย่างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณระดับ 3-7 ที่ปฏิบัติงานในสายงานวิเคราะห์งบประมาณ และที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) รวม 8 สำนัก จำนวน 194 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม การประมวลผลข้อมูล โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานการเปรียบเทียบความแตกต่าง (t-test) การวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) และทดสอบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least-Significant Difference:LSD)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
ปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 41-50 ปี การศึกษาระดับปริญญาโท โดยมีปัจจัยเกี่ยวกับงาน ได้แก่ ระดับตำแหน่ง ส่วนใหญ่มีตำแหน่งระดับ 6 ระยะเวลาการปฏิบัติงานระหว่าง 5-15 ปี ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์(e-Budgeting) จำนวน 3-4 ครั้ง มีประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงาน 10 ปีขึ้นไป
ระดับการยอมรับการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) เพื่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยคุณลักษณะที่เข้ากันได้ มีการยอมรับมากที่สุด รองลงมาด้านคุณลักษณะเชิงเปรียบเทียบ ด้านคุณลักษณะสามารถสังเกตได้ ด้านคุณลักษณะสามารถทดลองใช้ได้ และด้านคุณลักษณะความยุ่งยากซับซ้อน ตามลำดับ
ผลการเปรียบเทียบระดับการยอมรับระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์(e-Budgeting) เพื่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ ตามปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยเกี่ยวกับงาน พบว่า
ด้านคุณลักษณะประโยชน์เชิงเปรียบเทียบพบว่า อายุ กลุ่มที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีการยอมรับระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) เพื่อการปฏิบัติงาน สูงกว่ากลุ่มที่มีอายุ 41-50 ปี
ด้านคุณลักษณะที่เข้ากันได้พบว่า ระดับตำแหน่ง กลุ่มระดับ 5 มีการยอมรับระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) เพื่อการปฏิบัติงาน มากกว่ากลุ่มระดับ 6
ด้านคุณลักษณะความยุ่งยากซับซ้อนพบว่า ระดับตำแหน่ง กลุ่มระดับ 5 มีการยอมรับระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) เพื่อการปฏิบัติงาน มากกว่ากลุ่มระดับ 4
ด้านคุณลักษณะสามารถทดลองใช้ได้พบว่า เพศหญิงมีระดับการยอมรับมากกว่าเพศชายระดับตำแหน่ง พบว่า กลุ่มระดับ 5 ระดับ 6 ระดับ 7 มีการยอมรับระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) เพื่อการปฏิบัติงาน มากกว่ากลุ่มระดับ 4 และประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงาน พบว่า กลุ่มที่มีประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงาน10 ปีขึ้นไป มีการยอมรับมากกว่ากลุ่มที่มีประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงาน1-3 ปี

การยอมรับระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting)เพื่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ