ปัญหาทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าตามคำพรรณนา: ศึกษาเฉพาะกรณีโฆษณาและฉลากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

โดย พิชญาภา สันติธรารักษ์

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2554

บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาปัญหาทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าตามคำพรรณนา โดยศึกษาเฉพาะกรณีโฆษณาและฉลากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522ปัจจุบันแม้จะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาและฉลากสินค้าทั่วไปไว้ก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเพียงมาตรการกำกับดูแลการโฆษณาสินค้าทั่วไป โดยไม่มีมาตรการควบคุมการโฆษณา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการโฆษณามีอิทธิพลต่อผู้บริโภคทำให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลข่าวสารซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อความโฆษณาได้ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าว่าข้อความนั้นมีความเชื่อถือได้เพียงใด เนื่องจากการโฆษณาสินค้าทั่วไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ผู้โฆษณาไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตก่อนโฆษณา ทำให้สามารถโฆษณาไปได้เลยต่อมาเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็จะใช้มาตรการทางปกครอง โดยออกคำสั่งคณะกรรมการฯให้ผู้กระทำการโฆษณาแก้ไขข้อความโฆษณาหรือห้ามโฆษณาข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ทั้งนี้ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากนั้นคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาจะทำความเห็นว่าผู้กระทำการโฆษณามีความผิดฐานโฆษณาเท็จ หรือเกินความจริงตามมาตรา 47 และนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 62 เพื่อเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดต่อไป อันเป็นเพียงมาตรการแก้ไขเยียวยาปัญหาที่ปลายเหตุดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภ พ.ศ. 2522โดยมีบทบัญญัติที่เป็นมาตรการควบคุมการโฆษณาโดยให้ผู้กระทำการโฆษณายื่นคำขออนุญาตและต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะทำการโฆษณาได้ อันเป็นมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้นเหตุ และควรมีมาตรการตรวจสอบการใช้ข้อความฉลากสินค้าทั่วไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ก่อนนำสินค้าออกขายว่าสินค้านั้นมีการแสดงฉลากครบถ้วนและมีการใช้ข้อความที่ตรงต่อความเป็นจริงก่อนนำสินค้านั้นออกขาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการใช้สินค้าเพราะหลงเชื่อตามคนพรรณนาที่เป็นเท็จหรือเกินจริงนั้นสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเพื่อหามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าตามคำพรรณนา โดยมุ่งเน้นถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา และในด้านฉลากสินค้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2541 โดยศึกษาเทียบเคียงกฎหมายต่างประเทศได้แก่ กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่น มาปรับใช้กับกฎหมายของประเทศไทยเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เสียหายจากการซื้อสินค้าตามคำพรรณนา ให้ได้รับความเป็นธรรมและนำมาปฎิบัติได้จริง

DOWNLOAD : ปัญหาทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าตามคำพรรณนา: ศึกษาเฉพาะกรณีโฆษณาและฉลากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522