The Production of Animation with Stop Motion Technique

จัดทำโดย รัตน์ชนา เมินขุนทด และ อุรัสยา เจ้าดารี

ปีการศึกษา 2554


บทคัดย่อ

ปริญญานิพนธ์เล่มนี้มีจุดประสงค์เพื่อผลิตสื่อในรูปแบบสื่อแอนิเมชั่นด้วยเทคนิคสต็อปโมชั่น เรื่อง “Everything Can Be” โดยมีเนื้อหานำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดในมุมมองที่แตกต่าง หลีกเลี่ยงการคิดที่ดาษดื่น สร้างจุดเด่นให้ผลงานของตัวเอง

วิธีการศึกษา โดยนำกระดาษโน้ตมาใช้ในการเล่าเรื่องประกอบกับตัวละครหลัก จัดทำ Animatic เพื่อถ่ายทำตามลำดับเนื้อเรื่อง ผลิตโดยการบันทึกภาพนิ่งต่อเนี่องด้วยกล้อง DSLR โดยให้นักแสดงค่อยขยับท่าทางตามเนื้อเรื่อง จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตัดต่อลำดับภาพ ใส่เสียงประกอบ บันทึกสื่อลงในรูปแบบ DVD แล้วนำไปทดสอบเพื่อประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 30 คน

ผลการศึกษาพบว่า การผลิตสื่อแอนิเมชั่นด้วยเทคนิคสต็อปโมชั่น มีผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคนิคการทำสื่ออยู่ในระดับดีมาก (4.75) ด้านเสียงเพลงเสียงประกอบ (4.17) และด้านเนื้อเรื่อง (3.86) อยู่ในระดับดี ส่วนการประเมินจากกลุ่มตัวอย่างในด้านเนื้อเรื่อง (4.52) และด้านเทคนิคการทำสื่อ (4.72) อยู่ในระดับดีมาก ด้านเสียงเพลงเสียงประกอบอยู่ในระดับดี (4.45)


วัตถุประสงค์

  1. เพื่อผลิตสื่อแอนิเมชั่นโดยใช้เทคนิคสต็อปโมชั่น
  2. เพื่อประเมินความเห็นของกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีต่อสื่อแอนิเมชั่นด้วยเทคนิคสต็อปโมชั่น เรื่อง “Everything Can Be”

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ได้สื่อแอนิเมชั่นด้วยเทคนิคสต็อปโมชั่น
  2. ทราบถึงผลประเมินความเห็นของกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีต่อสื่อแอนิเมชั่นด้วยเทคนิคสต็อปโมชั่น เรื่อง “Everything Can Be”
  3. ได้แนวคิดและวิธีการสร้างสื่อโดยใช้เทคนิคสต็อปโมชั่นไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นต่อไป

ขอบเขตของการศึกษา

ผู้ศึกษาได้ทำการผลิตสื่อแอนิเมชั่นด้วยเทคนิคสต็อปโมชั่น โดยใช้วัสดุกระดาษ (Object Animation) และคนแสดง (Pixilation) เรื่อง “Everything Can Be” มีเนื้อหาที่สะท้อน ให้เห็นมุมมองหนึ่งของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดในมุมมองที่แตกต่าง ไม่ยึดติดกับความคิดซ้ำๆ แบบเดิมๆ ไม่ต้องมีแบบแผน โดยการจัดทำ Animatic เพื่อลำดับภาพ อย่างละเอียดด้วยโปรแกรม Adobe Flash ถ่ายทำโดยใช้กล้องถ่ายภาพ DSLR ร่วมกับโปรแกรม Dragon Stop Motion นำภาพที่ได้เข้าสู่กระบวนการตัดต่อลำดับภาพ ใส่เสียงประกอบในโปรแกรม Adobe Premiere Pro จากนั้นนำสื่อแอนิเมชั่นที่ตัดต่อสมบูรณ์แล้ว บันทึกลงในรูปแบบแผ่น DVD และประเมินผลโดยการทำแบบสอบถามแสดงความคิดเห็นด้านเนื้อเรื่อง ด้านเทคนิคการทำสื่อ และด้านเสียงเพลงเสียงประกอบ จากผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 30 คน และสรุปผลจากการประเมินแบบสอบถาม


สรุปผลการศึกษา

จากผลการประเมินพบว่า กลุ่มตัวอย่างแสดงความคิดเห็นว่า ในส่วนของมุมมองด้านเนื้อเรื่องนั้น สื่อแอนิเมชั่นเรื่องนี้มีเนื้อหามีความสอดคล้องกับการกระตุ้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าสนใจ สามารถดึงดูดผู้ชมให้รับชมได้อย่างดี มีความเหมาะสมกับวัยของผู้ชม ส่วนในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า สื่อแอนิเมชั่นเรื่องนี้มีเนื้อหาที่มีความเหมาะสมกับการนำเทคนิคสต็อปโมชั่นมาใช้ในการนำเสนอเป็นอย่างมาก มีการกระตุ้นให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าสนใจอยู่เนื้อเรื่องสามารถดึงดูดผู้ชมได้ดี ในส่วนของด้านเทคนิคการทำสื่อนั้น กลุ่มตัวอย่างแสดงความคิดเห็นว่า มีการกระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ จัดวางองค์ประกอบของฉากและตัวละครได้อย่างเหมาะสมมีความสัมพันธ์กันและนำ Post-it มาใช้ในการเล่าเรื่องได้ดี ส่วนในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า สื่อแอนิเมชั่นเรื่องนี้นำ Post-it มาใช้ในการเล่าเรื่องได้อย่างเหมาะสม มีการกระตุ้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และวัสดุที่ใช้เลือกใช้ในการผลิตสื่อมีความเหมาะสมและ เข้ากันได้ดี ในส่วนของด้านเสียงเพลงเสียงประกอบของสื่อแอนิเมชั่น กลุ่มตัวอย่างแสดงความคิดเห็นว่า เพลงที่ใช้ประกอบสื่อมีความเหมาะสมเข้ากับสื่อได้อย่างลงตัว และเสียงเอฟเฟ็กประกอบช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชม และช่วยดึงดูดความสนใจได้ดี ส่วนในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า เพลงที่ใช้ประกอบสื่อมีความเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง และเสียงเอฟเฟ็กที่ใช้ ช่วยดึงดูดและสร้างความน่าสนใจให้กับสื่อได้มากยิ่งขึ้น

อภิปรายผล

จากการทำสื่อแอนิเมชั่นด้วยเทคนิคสต็อปโมชั่นได้รับการประเมินอยู่ในระดับดี ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่คิดว่า การนำกระดาษโน้ตมาใช้ในการทำเทคนิคสต็อปโมชั่นมีความน่าสนใจและเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง สามารถดึงดูดผู้ชมได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ความเข้าใจเนื้อหาของสื่อยังอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากเนื้อหายังสื่อออกมาได้ไม่ชัดเจน สำหรับด้านความเหมาะสมในการใช้เทคนิค และความน่าใจอยู่ในระดับดีมาก ด้านเสียงประกอบมีความสอดคล้องกับเนื้อเรื่องอยู่ในระดับดี

ข้อเสนอแนะ

  1. เนื้อหาควรสื่อออกมาให้ชัดเจนมากกว่านี้
  2. ระยะเวลาในการดำเนินเรื่องสั้นเกินไป ควรมีความยาวให้เหมาะสมเพื่ออธิบายเนื้อหาของเรื่องให้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  3. ควรมีการเปลี่ยนมุมภาพเพื่อเน้นจุดสนใจ ตัวสื่อจะมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
  4. นักแสดงควรมีการสื่ออารมณ์ให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อหาและมีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อเรื่อง

รับชมผลงาน