จัดทำโดย กรรัตน์ บุญศรี;รัชดา ผดุงหมาย และ ชาญวิทย์ พานิชเจริญ

สาขา เทคโนโลยีมัลติมีเดีย

ปีการศึกษา 2558


บทคัดย่อ (Abstract)

ในปัจจุบันภาพยนตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อที่ให้การโน้มน้าวจิตใจและถ่ายทอดความรู้สึกให้กับผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ใช้เวลาเพียงสั้น และภาพยนตร์จะมีคุณภาพได้ก็ต้องผ่านกระบวนการตัดต่อและสร้างเทคนิคขึ้นมา เพื่อเป็นเสน่ห์ของภาพยนตร์และสร้างความประทับใจให้กับผู้ชม เพื่อดึงดูดอารมณ์คล้อยตามและความสนใจให้แก่ผู้ชมมากยิ่งขึ้นให้มีความรู้สึกผ่อนหนักผ่อนเบาในบางช่วงของอารมณ์ ผู้จัดทำจึงมีแนวคิดในการศึกษาการผลิตภาพยนตร์สั้น เรื่อง ฌ.เฌอ เพื่อศึกษาเทคนิค สโลว์โมชั่น (Slow Motion) และเทคนิค ฟาสท์โมชั่น (Fast Motion) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้เทคนิค สโลว์โมชั่น (Slow Motion) และ ฟาสท์โมชั่น (Fast Motion)

กลุ่มเป้าหมายในการประเมิน เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบไปด้วย สื่อภาพยนตร์สั้นเรื่อง ฌ.เฌอ เพื่อศึกษาเทคนิค สโลว์โมชั่น (Slow Motion) และเทคนิค ฟาสท์โมชั่น (Fast Motion) แบบประเมินความคิดเห็นสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านบท ด้านเทคนิคและด้านมุมมองภาพ และแบบประเมินความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่าง สถิติที่ใช้วิเคราะห์ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

จากผลการศึกษาพบว่าระดับคุณภาพของภาพยนตร์สั้นเรื่อง ฌ.เฌอ เพื่อศึกษาเทคนิค สโลว์โมชั่น (Slow Motion) และเทคนิค ฟาสท์โมชั่น (Fast Motion) ประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 คน พบว่า คุณภาพของภาพยนตร์สั้นเรื่อง ฌ.เฌอ เพื่อศึกษาเทคนิค สโลว์โมชั่น (Slow Motion) และเทคนิค ฟาสท์โมชั่น (Fast Motion) อยู่ในระดับคะแนนเฉลี่ย 4.36 ซึ่งอยู่ในระดับคุณภาพดี จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 40 คน พบว่า ระดับคะแนนเฉลี่ย 4.26 ซึ่งอยู่ในระดับคุณภาพดี

คำสำคัญ: ผลิตภาพยนตร์สั้น, ศึกษาเทคนิค


นิยามศัพท์

นิยามศัพท์ที่ใช้ในการวิจัยมีดังนี้

  1. สโลว์โมชั่น (Slow Motion)
    เทคนิคที่ทำให้การเคลื่อนไหวบนจอเชื่องช้ากว่าปกติ เป็นผลจากการถ่ายทำฉากดังกล่าวด้วยความเร็วมากกว่า 24 เฟรมต่อวินาที แต่นำมาฉายด้วยความเร็วปกติ เช่น 48 เฟรมต่อวินาที ฉะนั้นเมื่อนำมาฉาย ภาพบนจอจะเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติหนึ่งเท่าตัว เทคนิคนี้คิดค้นขึ้นโดยศาสตราจารย์ชาวออสเตรีย ออกัสต์ มัสเกอร์ ในปี 1904สโลว์โมชั่น (Slow Motion) ใช้ในภาพยนตร์หลากหลายแนวเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป หนึ่งในจุดหมายหลักของ สโลว์โมชั่น (Slow Motion) คือ การยืดห้วงเวลาแห่งความตึงเครียดหรือเขม็งเกลียวทางอารมณ์ให้ยาวนานออกไป ส่งผลให้พลังดราม่าของหนังพุ่งทะยานถึงขีดสุด เนื่องจากภาพลักษณะนี้จะดึงความสนใจของผู้ชมให้จับจ้องอยู่กับเหตุการณ์สั้นๆ ชั่วขณะหนึ่ง ไม่ว่ามันจะเป็นความสุขแห่งชัยชนะ หรือความเจ็บปวดของการสูญเสีย เช่น เวโวล็อด ปูดอฟกิน ใช้เทคนิค สโลว์โมชั่น (Slow Motion) กับฉากตัวละครกระโดดลงจากสะพานเพื่อฆ่าตัวตายในหนังเรื่อง The Deserter

    ความสง่า สวยงามในท่วงท่าแห่งการเคลื่อนไหวของมนุษย์หรือสัตว์อาจถูกเน้นย้ำให้โดดเด่นด้วยภาพ สโลว์โมชั่น (Slow Motion) ซึ่งย่อมส่งผลให้ฉากโดยรวมได้อารมณ์เหมือนฝัน เหนือจริง ในภาพยนตร์เพลงเรื่อง Hair ฉากเต้นถูกนำเสนอด้วยภาพ สโลว์โมชั่น (Slow Motion) เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเหล่าตัวละคร การออกแบบท่าเต้นอันไร้ระเบียบ ขาดเอกภาพ แต่เปี่ยมชีวิตชีวาของ ไทลา ธาร์ป สอดคล้องกับเรื่องราวในหนังอย่างเหมาะเจาะ เพราะมันพูดถึงไลฟ์สไตล์ของบรรดาฮิปปี้ยุคบุปผาชน นอกจากนี้ ผู้กำกับหลายคนยังนิยมใช้ภาพ สโลว์โมชั่น (Slow Motion) กับฉากแอ็กชั่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น อากิระ คูโรซาวา, จอห์น วู หรือ แซม เพ็คกินพาห์ ซึ่งบางครั้งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องโรแมนติก

  2. ฟาสท์โมชั่น (Fast Motion)
    ขณะที่ภาพแบบ ฟาสท์โมชั่น (Slow Motion) มักถูกใช้เพื่อจุดมุ่งหมายในการเน้นย้ำอารมณ์ร่วมทางดราม่า ความเหนือจริงของภาพฝันหรือจินตนาการ และความงามแห่งท่วงท่าการเคลื่อนไหว เทคนิคตรงกันข้ามอย่าง ฟาสท์โมชั่น (Fast Motion) (ถ่ายทำด้วยอัตราความเร็วต่ำกว่า 24 เฟรมต่อหนึ่งวินาที แล้วนำมาฉายด้วยอัตราความเร็วปกติ ก็มักถูกใช้เพื่อสร้างอารมณ์ขัน เนื่องจากภาพลักษณะนี้จะลดทอนความเป็นมนุษย์ จากความเคลื่อนไหวที่กระตุก ไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้ตัวละครดูเหมือนเครื่องจักร แข็งทื่อ ขาดความยืดหยุ่น จะเห็นได้จากหนังอย่าง Tom Jones และ A Clockwork Orange ซึ่งใช้ ฟาสท์โมชั่น (Fast Motion) เพื่อสร้างอารมณ์ขันได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ เทคนิคเดียวกันนี้ยังถูกนำมาใช้ในหนังตลกไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังตลกจำพวกวิ่งหนีผีทั้งหลายในหนังเรื่อง Trainspotting ผู้กำกับ แดนนี่ บอยด์ ถ่ายทอดช่องว่างระหว่างหนุ่มขี้ยา มาร์ค เรนตัน (ยวน แม็คเกรเกอร์) กับพ่อแม่ของเขาให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยใช้เทคนิค ฟาสท์โมชั่น (Fast Motion) เมื่อพ่อแม่ของมาร์ค รวมถึงบุคคลอื่น ๆ รอบข้างเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็วดุจเครื่องจักร ขณะมาร์คกลับนั่งนิ่งด้วยใบหน้าเฉยชาท่ามกลางความสับสนอลหม่าน ฉากดังกล่าวช่วยตอกย้ำทัศนคติของมาร์คในการเลือกที่จะปฏิเสธวิถีแห่งชนชั้นกลาง (ทำงาน สร้างครอบครัว) แล้วเผาผลาญชีวิตไปกับยาเสพติด

    เทคนิค ฟาสโมชั่น (Fast Motion) อาจนำมาใช้ในรูปแบบที่จริงจังได้ เช่น เร่งความเร็วให้กับการเคลื่อนไหวปกติ (รถยนต์วิ่งผ่านหน้า) ในหนังคลาสสิกเรื่อง Nosferatu พลังเหนือธรรมชาติของผีดูดเลือดถูกถ่ายทอดผ่านเทคนิค ฟาสท์โมชั่น (Fast Motion) และเช่นเดียวกัน ผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ซึ่งต้องการให้แวมไพร์ใน Bram Stoker’s Dracula ร่อนเข้าหาเหยื่อของมันด้วยความเร็วเหนือมนุษย์ ได้เลือกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมความไวชัตเตอร์ เพื่อให้ตากล้อง ไมเคิล บอลเฮาส์ สามารถปรับเปลี่ยนสปีดภาพระหว่างถ่ายทำได้อย่างราบรื่นและฉับพลันจาก 24 เฟรม/วินาทีไปเป็น 8 เฟรม/วินาที


ผลงานนักศึกษา